ข่า

ชื่อเครื่องยา

ข่า

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

เหง้า

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

ข่า

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

กฎุกโรหินี ข่าตาแดง (กลาง); ข่าหยวก ข่าใหญ่ ข่าหลวง (เหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Alpinia galanga (L.) Willd.

ชื่อพ้อง

Alpinia alba (Retz.) Roscoe, Alpinia bifida Warb., Alpinia carnea Griff., Alpinia pyramidata Blume, Alpinia rheedei Wight, Alpinia viridiflora Griff., Amomum galanga (L.) Lour. , Amomum medium Lour., Galanga officinalis Salisb., Hellenia alba (Retz.) Willd., Heritiera alba Retz., Languas galanga (L.) Stuntz, Languas pyramidata (Blume) Merr., Languas vulgare J.Koenig, Maranta galanga L., Zingiber galanga (L.) Stokes, Zingiber medium Stokes, Zingiber sylvestre

ชื่อวงศ์

Zingeberaceae

 

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

        เหง้าใต้ดินสีน้ำตาลอมแสด มีข้อปล้องสั้น เห็นข้อหรือปล้องได้ชัดเจน เนื้อในสีขาวหรือขาวแกมเหลืองอ่อนๆ

 

 

เครื่องยา เหง้าข่า

 

เครื่องยา เหง้าข่า

 

เครื่องยา เหง้าข่า

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

        ไม่มีข้อมูล

      

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย เหง้าแก่ รสเผ็ดร้อน ขม รับประทานเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียดแน่น กินแก้โรคปวดข้อ และโรคหลอดลมอักเสบ ขับน้ำคาวปลา ขับรก ใช้ภายนอกทารักษากลากเกลื้อน แก้ไฟลวก แก้น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วงแก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับน้ำมะขามเปียกและเกลือให้สตรีกินหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา แก้ฟกบวม โดยใช้ข่าแก่ฝานเป็นชิ้นบางๆ ชุบเหล้าโรงทา เหง้าแก่สดแก้โรคน้ำกัดเท้าโดยใช้ 1-2 หัวแม่มือ ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอท่วม ทิ้งไว้ 2 วัน ใช้สำลีชุบทาวันละ 3-4 ครั้ง หรือทาลมพิษ (ทาบ่อยๆจนกว่าจะดีขึ้น)

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ข่าในตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของเหง้าข่าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

          ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          เหง้าสด มีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.5 มีองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ 1,8 cineole (53.57%), α-pinene (2.67%), trans-caryophyllene (2.61%), terpinen-4-ol (2.41%), chavicol (1.00%) (ศิริเพ็ญ, 2548)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดการอักเสบ

      การศึกผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนในหลอดทดลอง ของสารบริสุทธิ์ p-hydroxycinnamaldehyde ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเหง้าข่าด้วยอะซีโตน โดยใช้เซลล์กระดูกอ่อนในมนุษย์ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการสลาย hyaluronan (HA), sulfated glycosaminoglycans (s-GAGs) และ matrix metalloproteinase (MMPs) จากเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนได้ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการปวด การอักเสบ และปกป้องกระดูกอ่อนผิวข้อ และน้ำบริเวณไขข้อ แสดงว่าสาร p-hydroxycinnamaldehyde จากข่ามีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเพื่อใช้รักษาอาการข้อเสื่อมได้ (Phitaket al, 2009)

ฤทธิ์แก้แพ้

      สารบริสุทธิ์ 1’S-1’-acetoxy chavicol acetate ที่แยกได้จากเหง้าข่า มีฤทธิ์แรงในการต้านการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิด type 1allergy (คือการแพ้ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยสารโมเลกุลเล็ก เช่น ฮีสตามีน ซีโรโทนิน จาก mast cell และเกิดการสร้างสารไซโตคายน์หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิแพ้) โดยการทดสอบในหลอดทดลอง วัดจากการยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์  β-hexosaminidase จาก RBL-2H3 cells เมื่อเกิดปฏิกิริยาการแพ้ ซึ่งแสดงถึงการยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ระยะเฉียบพลัน (immediate phase) และฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้าง TNF-αและ IL-4 เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยสารที่ก่อภูมิแพ้ ซึ่งแสดงถึงการยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ระยะท้าย หรือ late phase ผลการทดลองพบว่า สารบริสุทธิ์ 1’S-1’-acetoxychavicol acetate ที่แยกได้จากเหง้าข่า และอนุพันธ์ของสารบริสุทธิ์ที่ได้จากการสังเคราะห์ คือ 4-(methoxycarbonyloxyphenylmethyl)phenyl acetate  ออกฤทธิ์แรงในการต้านปฏิกิริยาภูมิแพ้ทั้งระยะเฉียบพลัน (ออกฤทธิ์ดีกว่าสารมาตรฐาน) และระยะท้าย โดยมีค่า IC50 ในการยับยั้ง β-hexosaminidaseของ 1’S-1’-acetoxychavicol acetate และ ยามาตรฐาน ketotifen fumalate เท่ากับ 17 และ 158 µM ตามลำดับ ค่า IC50 ในการยับยั้งการสร้าง TNF- αของสารบริสุทธิ์ และอนุพันธ์acetoxybenzhydrol methylcarboxylate analogueเท่ากับ 17 และ 11 µM ตามลำดับ ค่า IC50 ในการยับยั้งการสร้าง IL-4 ของสารบริสุทธิ์ และอนุพันธ์ มีค่าเท่ากัน เท่ากับ 12 µM (Yasuhara, et al, 2009)

ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

        ศึกษาฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันจากสารสกัด polysaccharide ส่วนที่ละลายได้ในน้ำร้อนของเห้งาข่า เมื่อนำมาทดสอบในหนูถีบจักร พบว่าเมื่อให้สารสกัดขนาด 25 mg/kg สามารถกระตุ้นการเกิดฟาโกไซโตซิส (การที่เม็ดเลือดขาวกำจัดสิ่งแปลกปลอมโดยการกลืนกิน) ของเซลล์ที่เรียกว่าเรทิคิวโลเอนโดทีเรียลเซลล์ (reticuloendothelial cell พบบริเวณม้าม ตับ ต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูก เป็นต้น)ได้ โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน zymosan และสามารถเพิ่มจำนวนของ peritoneal macrophage ซึ่งเป็นเซลล์ที่เก็บกินเชื้อโรคจากระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อใช้สารทดสอบในขนาดเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มจำนวน spleen cell ที่ทำหน้าที่เก็บกินสิ่งแปลกปลอมในกระแสเลือดได้ ดังนั้นสาร polysaccharideจากเหง้าข่าจึงมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแบบ phagocyte ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม โดยใช้เยื่อหุ้มเซลล์โอบล้อมเชื้อโรค ก่อนจะนำเข้าสู่เซลล์ และแบบ lymphocyte กำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายโดยกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีได้หลายแบบในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมในกระแสเลือด (Bendjeddou, et al, 2003)

 

การศึกษาทางคลินิก:

      ศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของยาทาภายนอกซึ่งประกอบด้วยสารสกัดเมทานอลของเหง้าข่า ในการทดลองแบบสุ่ม double-blind, placebo controlled, multicenter study โดยศึกษาในคนไข้โรคข้อเข่าเสื่อมจำนวน 261 คน ที่มีอาการปวดเข่าระดับปานกลางถึงรุนแรง พบว่าสารสกัดของข่าที่ความเข้มข้นสูง สามารถลดอาการของโรคข้อเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Chudiwal, et al, 2010)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

    ทำการศึกษาพิษเฉียบพลัน (24 ชั่วโมง) และพิษเรื้อรัง (เป็นเวลา 90 วัน) ของสารสกัดเอทานอลจากเหง้าข่าในหนูถีบจักร  พิษเฉียบพลันศึกษาที่ขนาด 0.5, 1.0 และ 3 g/kg ในขณะที่พิษเรื้อรังศึกษาที่ขนาด 100 mg/kg/day จากนั้นบันทึกลักษณะพฤติกรรม, ค่าทางโลหิตวิทยา,การเปลี่ยนแปลงของสเปิร์ม, น้ำหนักตัว และน้ำหนักของอวัยวะสำคัญต่างๆ จากการทดลองพบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตาย สารสกัดจากข่าทำให้น้ำหนักตัวของหนูเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการศึกษาพิษเรื้อรัง การตรวจสอบค่าทางโลหิตวิทยาพบว่าสารสกัดจากข่าทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ น้ำหนักของอวัยวะสืบพันธุ์เพิ่มขึ้น และจำนวนอสุจิเพิ่มขึ้นในหนูเพศผู้ และไม่พบการเกิดพิษต่อตัวสเปริ์ม (Qureshi, et al, 1992)

 

   เอกสารอ้างอิง:

   1. ศิริเพ็ญ จริเกษม, ศิรินันท์ ทับทิมเทศ, ธัญวรัตน์ กาจสงคราม, อุบล ฤกษ์อ่ำ, จรัส ทิสยากร. 2548. น้ำมันหอมระเหยไทย. บริษัทเซเว่น พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด:กรุงเทพมหานคร.

   2. Bendjeddou D, Lalaoui K, Satta D. Immunostimulating activity of the hot water-soluble polysaccharide extracts of Anacyclus pyrethrum, Alpinia galanga and Citrullus colocynthis. J Ethnopharmacology. 2003;88:155–160.

   3. Chudiwal AK, Jain DP, Somani RS. Alpinia galanga Willd.– An overview on phyto-pharmacological properties. Indian J Nat Prod Resour. 2010:1(2);143-149.

   4. Phitak T, Choocheep K, Pothacharoen P, Pompimon W, Premanode B, Kongtawelert P. The effects of p-hydroxycinnamaldehyde from Alpinia galanga extracts on human chondrocytes. Phytochemistry. 2009;70:237–243.

   5. Qureshi S, Shah AH, Ageel AM. Toxicity studies on Alpinia galanga and Curcuma longa. Planta Med. 1992;58(2):124-127.

   6. Yasuhara T, Manse Y, Morimoto T, Qilong W, Matsuda H, Yoshikawa M, et al. Acetoxybenzhydrols as highly active and stable analogues of 1’S-1’-acetoxychavicol, a potent antiallergic principal from Alpinia galanga. Bioorg Med Chem Lett. 2009;19:2944–2946.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : www.phargarden.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : www.thaiherbarium.com

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting