ย่านาง

ชื่อเครื่องยา

ย่านาง

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ราก

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

ย่านาง

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

จ้อยนาง (เชียงใหม่) เถาวัลย์เขียว (กลาง) ยาดนาง วันยอ (สุราษฎร์ธานี) เถาร้อยปลา ปู่เจ้าเขาเขียว เถาย่านาง ย่านางขาว ย่านนาง หญ้าภคินี

ชื่อวิทยาศาสตร์

Tiliacora triandra Diels

ชื่อพ้อง

-

ชื่อวงศ์

Menispermaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          รากทรงกระบอก เปลือกย่น สีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีอ่อนกว่า เห็นวงปีชัดเจน ขนาดความยาว 2-4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.5 เซนติเมตร มีรสขม

 

เครื่องยา รากย่านาง

 

เครื่องยา รากย่านาง

 

เครื่องยา รากย่านาง

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

          ปริมาณความชื้น ไม่เกิน 8.0% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6.0% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัด ethanol ไม่ต่ำกว่า 4.0% w/w  ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่ต่ำกว่า 7.0% w/w (Department of Medical Sciences, 2018)

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย รากรสจืดขม ใช้ในตำรับยาแก้ไข้เบญจโลกวิเชียร (ประกอบด้วยรากย่านาง รวมกับรากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร รากคนทา รากชิงชี่ อย่างละเท่าๆกัน) แก้ไข้ (ใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ หรือประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น) แก้พิษเมาเบื่อ กระทุ้งพิษไข้ แก้เมาสุรา ถอนพิษผิดสำแดง นำมาต้มกินเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น แก้ไข้ ขับพิษต่างๆ แก้ท้องผูก ปรุงยาแก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้หัว ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้ป่าเรื้องรัง ไข้ทับระดู บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้พิษภายในให้ตกสิ้น แก้โรคหัวใจบวม แก้กำเดา แก้ลม แก้ไข้จับสั่น แก้เมาสุรา รากผสมกับรากหมาน้อย ต้มกินแก้ไข้มาลาเรีย

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ย่านางในตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของรากย่านางร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:              -

 

องค์ประกอบทางเคมี:

         ศึกษาองค์ประกอบหลักที่มีฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากรากย่านาง โดยสกัดรากด้วยตัวทำละลาย  chloroform:methanol:ammonium hydroxide ในอัตราส่วน (50:50:1) ใช้วิธีแยกสารด้วย column chromatography  และการตกผลึก  ได้สารประกอบ alkaloid  2 ชนิด คือ tiliacorinine (I) และ tiliacorine (II) ปริมาณ  0.0082% และ 0.0029% ตามลำดับ (Saiin and Markmee, 2003)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย

        ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum ของสารสกัดรากย่านางด้วยเมทานอล ซึ่งสารสกัดมีสาร alkaloid เป็นองค์ประกอบ 2 ส่วนสกัด คือส่วนที่ละลายน้ำ และส่วนที่ไม่ละลายน้ำ พบว่าเฉพาะสาร alkaloid ที่ไม่ละลายน้ำ (water-insoluble alkaloid) มีฤทธิ์เพิ่มการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย จากองค์ประกอบทางเคมีที่แยกได้ พบสาร alkaloid ที่แตกต่างกัน 5 ชนิด ในกลุ่ม bisbenzyl isoquinoline ได้แก่ tiliacorine, tiliacorinine, nor-tiliacorinine A, และสาร alkaloid ที่ไม่สามารถระบุโครงสร้างได้ คือ G และ H ซึ่งพบว่าสาร alkaloid G มีฤทธิ์สูงสุดในการกำจัดเชื้อมาลาเรียระยะ schizont (เป็นระยะที่เชื้อมาลาเรียเข้าสู่เซลล์ตับ แล้วเปลี่ยนรูปร่างเป็นกลมรี และมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการแบ่งนิวเคลียสเป็นหลาย ๆ ก้อน) โดยมีค่า ID50 เท่ากับ 344 ng/mL ตามด้วย nor-tiliacorinine A และ tiliacorine ตามลำดับ (ID50s เท่ากับ 558 และ 675 mg/mL ตามลำดับ) (Pavanand, et al., 1989)

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค

       สาร bisbenzylisoquinoline alkaloids 3 ชนิด ได้แก่ tiliacorinine, 20-nortiliacorinine และ tiliacorine ที่แยกได้จากรากย่านาง และอนุพันธ์สังเคราะห์ 1 ชนิด คือ 13҆-bromo-tiliacorinine   สารทั้ง 4 ชนิดนี้ ได้นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยา multidrug-resistant Mycobacterium tuberculosis (MDR-MTB)  ผลการทดสอบพบว่า สารทั้ง 4 ชนิด มีค่า MIC อยุ่ระหว่าง 0.7 - 6.2 μg/ml แต่ที่ค่า MIC เท่ากับ 3.1 μg/ml เป็นค่าที่สามารถยับยั้ง  MDR-MTB ได้จำนวนมากที่สุด (Sureram, et al., 2012)

ฤทธิ์ต้านมะเร็ง

     การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี ในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง โดยศึกษาผลของสาร tiliacorinine ซึ่งเป็นสาร กลุ่ม alkaloid ที่พบในย่านาง  ในการทดสอบ in vivo ทำในหนูถีบจักร เพื่อดูผลลดการเจริญของก้อน   เนื้องอกในหนูที่ได้รับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี และสาร tiliacorinine  ผลการทดสอบพบว่า  tiliacorinine  มีนัยสำคัญในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีในหลอดทดลอง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.5-7 µM โดยกลไกการกระตุ้นกระบวนการ apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย และการทดสอบในหนูพบว่าสามารถลดการเจริญของก้อนเนื้องอกในหนูได้ (Janeklang, et al., 2014)

 

การศึกษาทางคลินิก:      -

อาการไม่พึงประสงค์:     -

         

การศึกษาทางพิษวิทยา:

พิษเฉียบพลัน และกึ่งเรื้อรังของย่านาง   

          ศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำจากทุกส่วนของย่านาง โดยการป้อนสารสกัด ในหนูเพศผู้ และเพศเมีย ชนิดละ 5 ตัว ในขนาด  5,000 mg/kg เพียงครั้งเดียว พบว่าไม่มีอาการแสดงของภาวะเป็นพิษเกิดขึ้น  ไม่มีการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่มีการตาย หรือการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายใน  การศึกษาพิษเรื้องรัง ทดสอบโดยป้อนสารสกัดแก่หนูทดลอง เพศผู้ และเพศเมีย ชนิดละ 10 ตัว ทุกวัน ในขนาดความเข้มข้น 300, 600 และ 1,200 mg/kg ติดต่อกันนาน 90 วัน   ไม่พบความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม และสุขภาพ หนูในกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม จะมีการทดสอบในวันที่ 90 และ 118 โดยตรวจร่างกาย และมีกลุ่มที่ติดตามผลต่อไปอีก 118 วัน ผลการทสอบพบว่า น้ำหนักของอวัยวะ ค่าชีวเคมีในเลือด และเนื้อเยื่ออวัยวะภายใน ไม่พบการเกิดพิษ  ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดย่านางด้วยน้ำ ไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังในหนูทดลอง ทั้งในหนูเพศผู้ และเพศเมีย (Sireeratawong, et al., 2008)

         จากการทดสอบฤทธิ์ลดไข้ของสารสกัด 50% เอทานอลจากรากย่านาง เมื่อนำไปตรวจสอบฤทธิ์ในการลดไข้ พบว่าไม่มีคุณสมบัติในการลดไข้แต่มีพิษต่อสัตว์ทดลอง การวิจัยทางเคมีได้แยกอัลคาลอยด์ ออกมาสองประเภท คือ อัลคาลอยด์ที่ไม่ละลายน้ำ(water-insoluble alkaloids) และอัลคาลอด์ที่ละลายน้ำ (water-soluble quarternary base) เมื่อตรวจสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอัลคาลอยด์ที่แยกได้ พบว่าการเกิดพิษต่อสัตว์ทดลองเกิดจาก water-soluble quarternary base ซึ่งมีฤทธิ์คล้าย curare จากการตรวจหาสูตรโครงสร้างสรุปได้ว่า water-soluble quarternary base นี้อาจอยู่ในจำพวก aporphine alkaloids (Dechatiwongse, et al., 1974)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Dechatiwongse T, Kanchanapee P, Nishimoto K. Isolation of active principle from Ya-nang (Tiliacora triandra Diels). Bull Dept Med Sci. 1974;16(2):75-81.

2. Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health, Thailand. 2018. Thai Herbal Compendium on physico-chemical specifications volume II. MiraCulous Company Limited:Pathumtani.

3. Janeklang S, Nakaew A, Vaeteewoottacharn K, Seubwai W, Boonsiri P, Kismali G, et al. In vitro and in vivo antitumor activity of tiliacorinine in human cholangiocarcinoma. Asian Pac J Cancer Prev. 2014;15(17): 7473-7478.

4. Pavanand K, Webster HK, Yongvanitchit K, Dechatiwongse T. Antimalarial activity of Tiliacora triandra Diels against Plasmodium falciparum in vitro. Phytotherapy Research. 1989;3(5):215-217.

5. Saiin C, Markmee S. Isolation of anti-malaria active compound from Yanang (Tiliacora triandra Diels.). Kasetsart J Nat Sci. 2003;37:47-51.

6. Sireeratawong S, Lertprasertsuke N, Srisawat U, Thuppia A, Ngamjariyawat A, Suwanlikhid N, et al. Acute and subchronic toxicity study of the water extract from Tiliacora triandra (Colebr.) Diels in rats. Sonklanakarin J Sci and Technol. 2008;30(5):611-619.

7. Sureram S, Senadeera S, Hongmanee P, Mahidol C, Ruchirawat S, Kittakoop P. Antimycobacterial activity of bisbenzylisoquinoline alkaloids from Tiliacora triandra against multidrug-resistant isolates of Mycobacterium tuberculosis. Bioorganic & Medicinal Chemistry Letters. 2012;22:2902-2905.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : www.phargarden.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง            : www.thaiherbarium.com

ข้อมูลตำรับยาห้าราก             : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting