โกฐจุฬาลัมพา

ชื่อเครื่องยา

โกฐจุฬาลัมพา

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ใบและเรือนยอด(ที่มีดอก)แห้ง

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

โกฐจุฬาลัมพา

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

โกฐจุฬาลัมพาจีน, โกฐจุฬา, ชิงเฮา, ชิงฮาว, แชเฮา

ชื่อวิทยาศาสตร์

Artemisia annua L.

ชื่อพ้อง

Artemisia chamomilla C.Winkl.

ชื่อวงศ์

Compositae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ประกอบด้วยส่วนของลำต้น ใบ และดอก ลำต้นมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก แตกกิ่งที่ส่วนบน ยาว 30-80 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2-0.6 เซนติเมตร สีเขียวอมเหลือง หรือสีน้ำตาลอมเหลือง มีสันนูนตามแนวยาว เนื้อค่อนข้างแข็งแต่หักง่าย หน้าตัดสีขาวอมเหลือง มีไส้ตรงกลาง ใบเรียงสลับ สีเขีวเข้้ม หรือสีเขียวอมน้ำตาล ม้วนยับ และฉีกขาดง่าย ใบที่สมบูรณ์เมื่อนำมาคลี่ออกจะเป็นใบประกอบขนนก 3 ชั้น ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปรีทรงยาว มีขนสั้นนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน มีกลิ่นเฉพาะ รสขมเล็กน้อย ให้ความรู้สึกเย็น (บุญใจ และคณะ, 2559)

 

 

เครื่องยา โกฐจุฬาลัมพา

 

 

เครื่องยา โกฐจุฬาลัมพา

 

 

เครื่องยา โกฐจุฬาลัมพา

 

 โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua L.)

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:    
             ส่วนเหนือดิน ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 2% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 6% w/w (THP)     

             ปริมาณความชื้นไม่เกิน 14% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 1.9% w/w (ข้อกำหนดเภสัชตำรับจีน)


สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: แก้ไข้เจลียง (คือไข้ที่มีอาการจับวันเว้นวันเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ดีซ่าน แพทย์แผนจีนใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำๆที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น แก้ริดสีดวงทวาร
           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐจุฬาลัมพาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
           โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย ในประเทศจีนมักพบขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ข้างทางที่รกร้างหรือตามชายป่า เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยพบว่าขึ้นได้ดี  และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ”     โกฐจุฬาลัมพาจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
           เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9”  (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
            สมุนไพรแห้ง ใช้ส่วนเหนือดิน ต้มรับประทานครั้งละ ุ6-12 กรัม ต่อวัน (ไม่ควรต้มนาน) หากใช้สดให้ใช้ปริมาณเป็นสองเท่า คั้นเอาน้ำดื่ม (บุญใจ และคณะ, 2559)


องค์ประกอบทางเคมี:
           องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ ของ
โกฐจุฬาลัมพาชนิด A. annua คือ สารกลุ่มเซสควิเทอร์พีนแล็กโทน (sesquiterpene lactone) ชื่อ สารชิงเฮาซู (qinghaosu) หรือ สารอาร์เทมิซินิน (artemisinin) สารนี้แสดงฤทธิ์ต้านมาลาเรียชนิดฟัลชิปารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (P. vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ปัจจุบันสารชนิดนี้กับอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ของสารชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศรวมทั้งจีน นอกจากนั้นยังพบว่าเครื่องยาชนิดนี้ยังมีสารกลุ่มฟลาวานอยด์หลายชนิดซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นกับสารอาร์เทมิซินิน เช่น casticin, cirsilineol , chysoplenol-D , chrysoplenetin เป็นต้น

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย

       การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง ของใบโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ได้จากแหล่งต่างๆ ของประเทศบราซิล โดยวิธีการแช่ (infusion) เตรียมสารทดสอบโดยใช้ผงใบ 5 กรัม แช่สกัดในน้ำเดือด ปิดฝา และตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 15 นาที แล้วนำไปกรอง ทดสอบสารสกัดเพื่อดูความไวของสารทดสอบต่อเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 ที่แยกได้จากประเทศบราซิล ซึ่งดื้อต่อยาคลอโรควีน แต่ไวต่อยาควินิน และอาร์ทีมิซินิน   ผลการทดสอบพบว่าใบโกฐจุฬาลัมพาจาก 4 แหล่ง มีปริมาณของอาร์ทีมิซินิน อยู่ระหว่าง 0.90-1.13% ความเข้มข้นของอาร์ทีมิซินินที่ได้จากการแช่สกัดใบ อยู่ในช่วง 40-46 mg/L ผลจากการทดสอบพบว่าสารสกัดใบด้วยวิธีการแช่สกัดจากทั้ง 4 แหล่ง ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อ P. falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 โดยมีค่า IC50 ต่ำ อยู่ระหว่าง 0.08-0.10 และ 0.09-0.13 μL/mL ตามลำดับ (Silva, et al., 2012)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

      การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนู (RAW 264.7 macrophage cell lines) ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) ใช้สารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ในขนาด 50, 25, 12.5 และ 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F1-F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้น 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F2 มีฤทธิ์ในการยับยั้ง NO สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.39 และ 71.00 ตามลำดับ โดยที่ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ macrophage โดยมีอัตราการมีชีวิตรอดของเซลล์คิดเป็นร้อยละ 93.86 และ 79.87 ตามลำดับ (Chougouo, et al., 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส

      ทดสอบการยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสในหลอดทดลอง (อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส เป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และความจำ การยับยั้งเอนไซม์นี้ จึงเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) ทดสอบด้วยวิธี Ellman’s colorimetric method ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ความเข้มข้น 1 mg/mL สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสได้ คิดเป็นร้อยละ 71.83 มีค่า IC50 เท่ากับ 87.43 μg/mLในขณะที่ส่วนสกัดย่อย F2 และ F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 36.75 และ 28.82 μg/mLตามลำดับ  สารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ได้แก่ อาร์ทีมิซินิน  และ chrysosplenetin ที่แยกได้จากการสกัดเอทานอลจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 0.1 mg/mL มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71.67 และ 80.00 ตามลำดับ มีค่า IC50 เท่ากับ 29.34 และ 27.14 μg/mL ตามลำดับจากการศึกษาสารที่ได้จากโกฐจุฬาลัมพาพบว่ามีศักยภาพในการนำมาพัฒนายาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงใช้ในโรคที่มีความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับไนตริกออกไซด์ และเอนไซม์โคลีนเอสเทอรเรสได้ (Chougouo, et al., 2016)


การศึกษาทางคลินิก:
ฤทธิ์ระงับอาการปวด

       การศึกษาทางคลินิกที่ยืนยันถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ใช้ระงับอาการปวด, และอาการข้อแข็ง ในผู้ป่วยโรคข้อที่สะโพกหรือเข่าเสื่อม เป็นการศึกษาแบบ short-term randomized, placebo-controlled, double-blind study โดยทำการสุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-75 ปี จำนวน 42 คน แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150, 300 mg และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับยาวันละสองครั้ง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นประเมินประสิทธิผลด้วย Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis Index (WOMAC®) และประเมินอาการปวดด้วย visual analog scale (VAS) ผลการทดสอบพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการดีขึ้นจากการประเมินด้วย WOMAC® อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −12.2; standard deviation, SD 13.84; p=0.0159) และยังพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการปวดลดลงจากการประเมินด้วย VAS อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −21.4 mm; SD, 23.48 mm; p=0.0082) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอก และได้รับสารสกัดขนาด 300 mg ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า สารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาดต่ำ 150 mg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และระงับปวดในผู้ป่วยกระดูกและข้ออักเสบได้ (Stebbings, et al., 2016)



การศึกษาทางพิษวิทยา:
            การทดสอบความเป็นพิษในหนูที่ตั้งครรภ์ พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดน้ำของโกฐจุฬาลัมพาขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้าช่องท้องหนูขาวที่ท้อง พบว่าเป็นพิษต่อตัวอ่อน แต่ไม่เป็นพิษต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ สารสกัดน้ำขนาดเดียวกันนี้ ไม่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ของหนูถีบจักรเพศผู้ และอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าเมื่อให้สาร aetemisinin ขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 7-17 วัน แก่หนูขาวที่ตั้งท้อง พบว่าทำให้ตัวอ่อนตาย (บุญใจ และคณะ, 2559)           

            เมื่อกรอกน้ำมันโกฐจุฬาลัมพาที่เตรียมเป็นอิมัลชันเข้ากระเพาะอาหารหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้ตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 2.10±0.08 กรัม/กิโลกรัม (บุญใจ และคณะ, 2559)

            เมื่อกรอกสาร artemisinin ขนาด 1.0 กรัม/กิโลกรัม เข้ากระเพาะอาหารหนูขาว และกระต่าย ติดต่อกัน 14 วัน ไม่พบว่าเป็นพิษ  สาร artemisinin ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบด้วย Saimonella /mammalian microsomal enzymes และ mouse marrow micronucleus (บุญใจ และคณะ, 2559)

 

ข้อห้ามใช้:

           ห้ามใช้ในผู้่ป่วยที่มีอาการท้องเสีย อุจจาระเหลว เนื่องจากภาวะม้าม และกระเพาะอาหารพร่อง

 

อาการไม่พึงประสงค์:

          อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องได้

 

 

เอกสารอ้างอิง:

1. บุญใจ ลิ่มศิลา, เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, เผิง เฉิง และคณะ (กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข). 2559. มาตรฐานสมุนไพรจีนในประเทศไทย เล่ม 2. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด:กรุงเทพมหานคร.

2. Chougouo RDK, Nguekeu YMM, Dzoyem JP, Awouafack MD, Kouamouo J, Tane P, et al. Anti-inflammatory and acetylcholinesterase activity of extract, fractions and five compounds isolated from the leaves and twigs of Artemisia annua growing in Cameroon. SpringerPlus. 2016;5:1525.

3. Silva LFR, Magalhães PM, Costa MRF, Alecrim MGC, Chaves FCM, Hidalgo AF, et al. In vitro susceptibility of Plasmodium falciparum Welch field isolates to infusions prepared from Artemisia annua L. cultivated in the Brazilian Amazon. Memórias do Instituto Oswaldo Cruz. 2012;107(7):859-866.

4. Stebbings S, Beattie E, McNamara D, Hunt S. A pilot randomized, placebo-controlled clinical trial to investigate the efficacy and safety of an extract of Artemisia annua administered over 12 weeks, for managing pain, stiffnessand functional limitation associated with osteoarthritis of the hipand knee. Clin Rheumatol. 2016; 35: 1829-1836.

 

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting