ดอกจันทน์

ชื่อเครื่องยา

ดอกจันทน์

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ดอกจันทน์เทศ จันทน์ปาน

ได้จาก

รกหุ้มเมล็ด

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

จันทน์เทศ (nutmeg)

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ดอกจันทน์ จันทน์บ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์

Myristica fragrans Houtt.

ชื่อพ้อง

Aruana silvestris Burm.f., Myristica aromatica Sw., Myristica moschata Thunb., Myristica officinalis L.f., Palala fragrans (Houtt.) Kuntze

ชื่อวงศ์

Myristicaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ดอกจันทน์ (mace) คือส่วนเยื่อหุ้มเมล็ด  ลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด ดูเหมือนร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกหุ้มเมล็ด โดยจะรัดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะแยกออกจากเมล็ด  รกที่แยกออกมาใหม่ๆจะมีสีแดงสด  เมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเปลี่ยนจากสีแดงสดเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเนื้อ  และเปราะ  ผิวเรียบ  ขนาดความยาว 3-5 เซนติเมตร  ความกว้าง 1-3 เซนติเมตร  ความหนา 0.5-1 เซนติเมตร  มีกลิ่นหอม  รสขม ฝาด เผ็ดร้อน

 

เครื่องยา ดอกจันทน์

 

เครื่องยา ดอกจันทน์

 

 

เครื่องยา ดอกจันทน์

 

 

เครื่องยา ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) และ ลูกจันทน์ (เมล็ด)

 

เครื่องยา ดอกจันทน์

 

เครื่องยา ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) และ ลูกจันทน์ (เมล็ด)

 

 

ผลจันทน์เทศสด

 

ดอกจันทน์ และลูกจันทน์ สด

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล
 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: มีสรรพคุณบำรุงโลหิต  บำรุงธาตุ  ขับลม แก้ปวดมดลูก แก้ท้องร่วง บำรุงกำลัง บำรุงผิวเนื้อให้เจริญ น้ำมันระเหยง่ายใช้เป็นส่วนผสมของขี้ผึ้งที่ใช้ทาระงับความปวด ใช้ขับประจำเดือน  ทำให้แท้ง  ทำให้ประสาทหลอน  ประเทศอินโดนีเซียใช้บำรุงธาตุ  แก้ปวดข้อ  กระดูก
           ตำรับเภสัชกรรมล้านนา: ใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยามะเร็งครุด และยาเจ็บหัว
           ยาพื้นบ้านของชาวตะวันตกและตะวันออก: ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นไส้ บำบัดโรคมะเร็ง
           ตำรายาไทย: ปรากฏการใช้จันทน์เทศใน “พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร มี 3 อย่างคือ ผลจันทน์เทศ ผลผักชีล้อม และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต “พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลจันทน์เทศ ผลเร่วใหญ่ และกานพลู สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด
          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ดอกจันทน์ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง, ตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ, ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1. ขับลม
                ใช้ดอกจันทน์ (รก) 4 อัน บดเป็นผงละเอียด ชงน้ำดื่มครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน ติดต่อกัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ ขับลม
           2. แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ
                ใช้ดอกจันทน์ (รก) 3-5 อัน ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม

องค์ประกอบทางเคมี:
           ดอกจันทน์มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่ายราว ร้อยละ 7-14  มีองค์ประกอบทางเคมีคือ alpha-pinene (18-26.5%), beta-pinene (9.7-17.7%), sabinene (15.4-36.3%), myrcene (2.2-3.7%), limonene (2.7-3.6%),  myristicin, elemicin, safrole

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่

      น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากผลจันทน์เทศสด ด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ด้วยวิธี beta-carotene/linoleic acid bleaching assay และวิธี reducing power ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ เป็นการศึกษา โดยใช้วิธี  ex vivo rat aortic assay ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague Dawley จากผลการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากรกจันทน์เทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของ linoleic acid จึงยับยั้งการที่ beta-carotene จะถูกออกซิไดส์ได้ โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 88.68±0.1% ใกล้เคียงกับสารมาตรฐาน BHT (93.2 ±0.1%) วิธี reducing power พบว่าน้ำมันหอมระเหยมีสมบัติการรีดิวส์ที่แรง แสดงถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 181.4 μg/mL แต่ออกฤทธิ์ต่ำกว่าสารมาตรฐานวิตามินซี (EC50 เท่ากับ 36.1 μg/mL) ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ พบว่าน้ำมันหอมระเหย สามารถยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 77.64 μg/mL (สารมาตรฐาน suramine มีค่า IC50 เท่ากับ 16.6 μg/mL)  ดังนั้นน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากรกจันทน์เทศ จึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคสัมพันธ์กับการสร้างเส้นเลือดใหม่ เช่น การเจริญของเนื้องอก โรคมะเร็ง โรคอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น (Piaru, et al, 2012)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายด้วยรังสี และฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน

      การทดสอบสาร lignans ที่อยู่ในส่วนสกัดน้ำของรกจันทน์เทศสด ทดสอบในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเซลล์ และสามารถปกป้อง DNA จากการถูกทำลายด้วยรังสี โดยสามารถลดการแตกหักของ DNA ได้ สามารถยับยั้งการตอบสนองของ gene  ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการ transcription ของ IL-2 และ IL-4 ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นในระบบภูมิคุ้มกัน สาร lignans สามารถปกป้องเซลล์ม้ามจากรังสีที่เหนี่ยวนำให้เกิดการผลิตอนุมูลออกซิเจนที่ว่องไวต่อปฎิกิริยา(ROS) มาทำลายเซลล์ได้ จากการศึกษาสรุปได้ว่าสาร lignans ในจันทน์เทศ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายด้วยรังสี และมีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน (Checker, et al, 2008)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดรกจันทน์เทศที่สกัดด้วยเมทานอล, อีเทอร์ และเฮกเซน เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ทำการทดลองด้วยการเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทด้วยคาราจีแนน และการเหนี่ยวนำให้เกิดการซึมผ่านของสารที่หลอดเลือด (vascular permeability)ด้วยกรดอะซีติกในหนูเมาส์ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดรกจันทน์เทศ ได้แก่ สารสกัดเมทานอล (1.5 g/kg), สารสกัดอีเทอร์ (0.9 g/kg), สารสกัดเฮกเซน (0.5g/kg), ส่วนสกัดย่อย Fr-II (0.19 g/kg) และ ส่วนสกัดย่อย Fr-VI (0.17 g/kg) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน indomethacin (10 mg/kg) และเมื่อนำสารสกัดไปแยกด้วยวิธี silica gel column chromatography และ วิธี thin layer chromatography พบสารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลัก คือ  myristicin ดังนั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่า สารที่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของจันทน์เทศคือ myristicin (Ozaki, et al., 1989) 

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:

           การศึกษาการเกิดพิษของ myristicin ที่พบในผลจันทน์เทศพบว่ามีรายงานการเกิดอาการประสาทหลอนอาการผิดปกติทางระบบประสาท ขนาดที่ทำให้เกิดพิษ คือผงจันทน์เทศ 5 กรัม เทียบเท่ากับสาร myristicin1-2 กรัม อาการจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับขนาดยาดังกล่าวภายใน 3-6 ชั่วโมง และอาการคงอยู่ถึง 72 ชั่วโมง และหากได้รับในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งพบว่าการเกิดพิษดังกล่าวเกิดจากสารที่ได้จากระบวนการเมตาบอลิซึม คือ 3-methoxy-4,5- methylendioxyamphetamine (MMDA) (Rahman, et al., 2015)

           การบริโภค myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม ทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาท  เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน การบริโภคสูงถึง 8 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้  เนื่องจากเครื่องยาดอกจันทน์มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท  ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

           สาร  safrole มีผลก่อมะเร็งตับในหนู น้ำมันหอมระเหยทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่าย แต่ไม่ระคายเคืองในคน สาร  myristicin ขนาด 10 มิลลิกรัม / กิโลกรัม ไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่จะมีผลต่อระะบบประสาท

          การรับประทานดอกจันทน์ปริมาณมาก จะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง แขนขาไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน การเต้นของหัวใจผิดปกติ และอาจตายได้ (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์  เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.

2. Checker R, Chatterjee S, Sharma D, Gupta S, Variyar P, Sharma A, et al. Immunomodulatory and radioprotective effects of lignans derived from fresh nutmeg mace (Myristica fragrans) in mammalian splenocytes. International Immunopharmacology. 2008;8(5):661-669.
3. Ozaki Y, Soedigdo S, Wattimena YR, Suganda AG. Antiinflammatory Effect of Mace, Aril of Myristica fragrans HOUTT., and Its Active Principles. Japan J Pharmacol.1989:49;155-163.
4. Piaru SP, Mahmud R, Majid AMSA, Nassar ZDM. Antioxidant and antiangiogenic activities of the essential oils of Myristica fragrans and Morinda citrifolia. Asian Pac J Trop Med. 2012;5(4):294-298.
5. Rahman NAA, Fazilah A, Effarizah ME.Toxicity of Nutmeg (Myristicin): A Review. International on advanced science engineering information technology.2015;5(3):61-64.

 

 ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ          : www.thai-remedy.com

 ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์   : www.thai-remedy.com

 

 

 

 

 


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting