ตะไคร้แกง

ชื่อเครื่องยา

ตะไคร้แกง

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ตะไคร้บ้าน

ได้จาก

เหง้าและลำต้น

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

ตะไคร้แกง

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

คาหอม (แม่ฮ่องสอน) จะไคร (เหนือ) เซิดเกรย (เขมร สุรินทร์) ตะไคร้ (ภาคกลาง) ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หัวสิงไค (เขมร ปราจีนบุรี) เหลอะเกรย (เขมร สุรินทร์) ไคร (คาบสมุทร)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cymbopogon citratus (DC.) Stapf

ชื่อพ้อง

Andropogon ceriferus Hack. Andropogon citratus DC. Andropogon fragrans C.Cordem. Andropogon roxburghii

ชื่อวงศ์

Graminae (Poaceae)

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ลำต้นรูปทรงกระบอก แข็ง เกลี้ยง ตามปล้องมักมีไขปกคุลม เหง้า มีข้อและปล้องสั้นมาก กาบใบสีขาวนวล หรือสีขาวปนม่วง รสปร่า  มีกลิ่นหอมเฉพาะ  

 

เครื่องยา ตะไคร้แกง

 

ตะไคร้แกงสด

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ต้น รสหอมปร่า ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด  แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ทำให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต เหง้า แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กระษัย ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ไข้หวัด ขับประจำเดือน ขับระดูขาว ใช้ภายนอกทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของลำต้นตะไคร้แกงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
           ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้ทั้งต้น ลดไข้ โดยนำมาต้มจนเดือดประมาณ 10 นาที ยกลงดื่มครั้งละครึ่งแก้วสามเวลา ใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนังโดยต้มกับน้ำและนำมาอาบ
           ตำรับยาสมุนไพรล้านนา: ใช้รักษาอาการบวมในเด็ก วัยกลางคน และคนชรา โดยในตำรับประกอบด้วยตะไคร้ และสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด นำไปต้มอาบ

           ทางสุคนธบำบัดน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้บ้าน ช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว มีชีวิตชีวา ทำให้กระปรี้กระเปร่า คลายเครียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร บรรเทาอาการปวดโรคข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           รักษาอาการขัดเบา       
                      เหง้าและลำต้นสด   หรือแห้ง  1  กำมือ  หรือน้ำหนักสด  40-60  กรัม  แห้ง  20-30  กรัม  ทุบต้มกับน้ำพอควร  แบ่งดื่ม  3  ครั้ง ๆ ละ  1  ถ้วยชา (75  มิลิลิตร) ก่อนอาหาร  หรือจะหั่นตะไคร้  คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอเหลือง  ชงด้วยน้ำเดือด  ปิดฝาทิ้งไว้  5-10  นาที  ดื่มแต่น้ำ 3 ครั้ง ครั้งละ  1  ถ้วยชา  ก่อนอาหาร                      
           รักษาท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด     
                      ใช้เหง้าและลำต้นสด  1  กำมือ  น้ำหนัก  40-60  กรัม  ทุบพอแตก  ต้มกับน้ำ  2  ถ้วยแก้ว  เดือด  5-10  นาที  ดื่มแต่น้ำ  ครั้งละ  1/2  แก้ว  วันละ  3  ครั้งหลังอาหาร      

องค์ประกอบทางเคมี:
           พบสาร  citral 80% นอกจากนี้ยังพบ geranial, nerol, geraniol, myrcene, limonene, eugenol, linalool, menthol, nerolidol, camphor, farnesol, citronellol, citronellal, farnesol

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์แก้ปวด

       ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของน้ำมันหอมระเหยจากใบของตะไคร้สดที่กลั่นด้วยไอน้ำ ในหนูถีบจักรเพศผู้ สายพันธุ์ Swiss ใช้การทดสอบฤทธิ์ลดปวด 3 วิธี ได้แก่ Hot plate test, Acetic acid-induced writhings และ Formalin test การทดสอบด้วยวิธี hot-plateโดยจับเวลาที่หนูถีบจักร สามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อน  โดยการป้อน หรือฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าทางช่องท้อง และจับเวลาที่หนูสามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ที่เวลา 30, 60 และ 90 นาที หลังได้รับสารทดสอบ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับการฉีดน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้ที่ขนาด 50 และ 100 มก./กก. สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ ที่เวลา 60 นาที เท่ากับ 50 และ 80% ตามลำดับ หนูที่ได้รับสารทดสอบโดยการกินสามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ 40 และ 52% ตามลำดับ (ที่เวลา และความเข้มข้นเดียวกับวิธีฉีด) สารมาตรฐาน meperidine ขนาด 5มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูที่เวลา 60 และ 90 นาที สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้เท่ากับ 62 และ 48% ตามลำดับ พบว่าฤทธิ์ระงับปวดถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน (opioid antagonist) แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพรในตำรับ น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid

       การทดสอบด้วยวิธี acetic acid-induced writhing โดยป้อนสารทดสอบทางปาก หรือฉีดเข้าทางช่องท้องแก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที (วิธีฉีด) หรือ 1 ชั่วโมง (วิธีกิน) จึงเหนี่ยวนำให้หนูเจ็บปวดโดยการฉีดกรดอะซิติก 0.6 % เข้าทางช่องท้อง ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้สามารถลดการหดตัวของกล้ามเนื้อท้องของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อให้โดยวิธีการฉีดในขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  สามารถลดการเจ็บปวดได้ 87.7% (สารมาตรฐาน indomethacin โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 2 mg/kg ยับยั้งได้ 96%)

      การทดสอบด้วยวิธี formalin test ทำโดยการฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าทางช่องท้อง (50, 100, 200มก./กก. หรือป้อนทางปาก (50, 100 มก./กก.) ในหนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที (วิธีฉีด) หรือ 60 นาที (วิธีกิน) จึงฉีด formalin 1% เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู (ซึ่งแสดงถึงความเจ็บปวด) ใน 2 ช่วง คือ first phase (0-5 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน (acute pain) อีกช่วงหนึ่งคือ second phase (20 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงการอักเสบ (inflammation phase) พบว่าเมื่อฉีดน้ำมันหอมระเหยในขนาด 50 มก./กก. และสารมาตรฐาน meperidine ขนาด 5มก./กก. สามารถลดการเจ็บปวดในระยะ second phase ได้ 70 และ 76% ตามลำดับ โดยฤทธิ์ระงับปวด ถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน (opioid antagonist) แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพรในตำรับ น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid โดยสรุปน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้แกงมีฤทธิ์แก้ปวดโดยมีกลไกผ่านระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย (Viana, et al., 2000)

ฤทธิ์ต้านจุลชีพ

       ฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากใบตะไคร้บ้านด้วยเอทานอล, น้ำเย็น และน้ำร้อน ทดสอบด้วยวิธี disc-diffusion ต่อเชื้อ 3 ชนิด ได้แก่เชื้อแบคทีเรีย Staphyococcus aureus, Escherıchıa coli และเชื้อรา Candida albicans ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากใบตะไคร้บ้านสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ทั้ง 3 ชนิด โดยสารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ S. aureus และ E. coli ได้ดีที่สุด คือสารสกัดเอทานอล โดยมีค่าเฉลี่ยบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (inhibition zone) เท่ากับ 16±1.75 และ 12± 0.00 มิลลิเมตร ตามลำดับ สารสกัดใบตะไคร้บ้านด้วยน้ำเย็นยับยั้งเชื้อ C. albicans ได้ดีที่สุด โดยมีค่า inhibition zone  เท่ากับ 10± 0.58 มิลลิเมตร (ยามาตรฐานสำหรับเชื้อ S. aureus, E. coli และ C. albicans ได้แก่ gentamycin, olfloxacin และ clotrimazole ตามลำดับ มีค่าเฉลี่ย inhibition zone เท่ากับ >30, >30 และ 35 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Okigbo and  Mmeka, 2008)

        ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ที่ได้จากน้ำมันหอมระเหย ทดสอบด้วยวิธี disk diffusion โดยใช้เชื้อรา จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ Candida albicans ATCC 10231, Candida albicans ATCC 18804, Candida albicans CI-I (clinical isolate), Candida albicans CI-II, Candida krusei ATCC 6258, Candida glabrata ATCC 2001, Candida tropicalis ATCC 750 และ Candida parapsilosis ATCC 22019 ซึ่งเชื้อราเหล่านี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนัง ช่องปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด รวมทั้งการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย ในขนาด 4 μL ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อราทุกชนิด โดยมีค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (>20 มิลลิเมตร) ซึ่งมากกว่าสารมาตรฐาน nystatin (0.3 mg/mL, 20.0 μL) ในเชื้อทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ ยกเว้นเชื้อ  C. krusei  ต้องใช้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ในปริมาณ 8 μL การหาปริมาณสาร citral ในน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ด้วยวิธี gas chromatography พบว่ามีปริมาณเท่ากับ 76% และปริมาณ citral ที่คาดว่าจะมีอยู่ในน้ำมันหอมระเหย 4 μL และ 8 μL เท่ากับ 2.70 และ 5.41 mg ตามลำดับ (Silva, et al., 2008)

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ทดสอบในสัตว์ทดลอง เมื่อให้ในขนาด 20 เท่า ของขนาดที่ใช้เป็นอาหารในคน ไม่พบอาการพิษ

            ระวังการใช้ในคนที่เป็นต้อหิน (glaucoma) เนื่องจาก citral จะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Okigbo RN, Mmeka EC. Antimicrobial effects of three tropical plant extracts on Staphylococcus aureus, Escherichia coli and Candida albicans. Afr J Trad CAM. 2008;5(3):226-229.

2. Silva CB, Guterres SS, Weisheimer V, Schapoval EES. Antifungal activity of the lemon grass oil and citral against Candida spp. The Brazilian Journal of Infectious Diseases. 2008;12(1):63-66.

3. Viana GSB, Vale TG, Pinho RSN, Matos FJA. Antinociceptive effect of the essential oil from Cymbopogon citratus in mice. J Ethnopharmacology. 2000;70:323-327.

 

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting