เทียนเยาวพาณี

ชื่อเครื่องยา

เทียนเยาวพาณี

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ผลแก่แห้ง

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

เทียนเยาวพาณี (ajowan)

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Trachyspermum ammi (L.) Sprague

ชื่อพ้อง

Ammi copticum L., Ammios muricata Moench, Athamanta ajowan Wall., Bunium copticum (L.) Spreng., Carum ajowan Benth. & Hook.f., Carum aromaticum Druce, Carum copticum (L.) Benth. & Hook. f., Carum panatjan Baill., Cyclospermum ammi (L.) Lag., Daucus anisodorus Blanco, Daucus copticus (L.) Lam., Helosciadium ammi (L.) Oken, Ptychotis coptica (L.) DC., Sison ammi L., Trachyspermum copticum

ชื่อวงศ์

Umbelliferae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลเป็นผลแห้ง รูปไข่ ตรงกลางป่องมาก มีสีน้ำตาล ขนาดกว้าง 0.7-1.4  มิลลิเมตร ยาว 2.0-2.8 มิลลิเมตร ผลแยกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมี 1 เมล็ด  เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะด้านนอกนูน ด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบนหรือนูนเล็กน้อย ด้านที่นูนมีสันตามแนวยาวของเมล็ด จำนวน 3 เส้น ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น ปกคลุมด้วยขนหรือหนามสั้นๆ สีขาวหนาแน่น  เมื่อบดเป็นผง มีสีน้ำตาล มีกลิ่นและรสเฉพาะตัว  รสหวาน กลิ่นหอม รสร้อนสุขุม

 

เครื่องยา เทียนเยาวพาณี

 

เครื่องยา เทียนเยาวพาณี

 

เครื่องยา เทียนเยาวพาณี

 

เครื่องยา เทียนเยาวพาณี

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 4% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 12% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 8% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 5% v/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เมล็ด ขับลม กระจายเสมหะ แก้คลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียด กระจายโลหิต ขับลมในท้องที่ปั่นป่วนอยู่โดยรอบสะดือ ลมทำให้คลื่นเหียน ทำให้จุกออกจากท้องไป
           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้เมล็ดเทียนเยาวพาณี ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณี อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง นอกจากนี้ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของ เทียนแดง เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ
           เทียนเยาวพาณีเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ มีการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือของทวีปแอฟริกา เปอร์เซีย ถึงประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย แต่ปลูกในประเทศอินเดีย สหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดเทียน”
           เครื่องยาพิกัดเทียน ประกอบด้วย“พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม
           ตำรับยา “อาภิสะ” ในคำอธิบายพระตำราพระโอสถพระนารายณ์ ระบุว่าเป็นยาแก้ริดสีดวง ไอ ผอมแห้ง แก้เสมหะในทรวงอกและในลำคอ ยาขนานนี้เข้าเครื่องยา 15 สิ่ง รวมทั้งเทียนเยาวพาณี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           เทียนเยาวพาณีมีน้ำมันระเหยง่ายเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมี thymol, gamma-terpinene , p-cymene เป็นองค์ประกอบหลัก สารอื่นๆ ได้แก่ eugenol, beta-pinene, oleic acid, verbenol, beta-terpineol, beta-myrcene, camphene, D-limonene, ocimene, linalool, carveol, apioline, α-thujene, α-selinene

           นอกจากนี้ยังมีรายงานพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์, คูมาริน

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
          ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย

         การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดจากผลของเทียนเยาวพาณี ต่อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ และแบคทีเรียที่ทำให้อาหารบูดเสีย การสกัดน้ำมันระเหยง่ายใช้วิธีการกลั่นด้วยน้ำ ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดเฮกเซน คลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตต และเมทานอล พบว่าสารทดสอบที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้สูงสุดคือ น้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดเมทานอล โดยน้ำมันระเหยง่าย ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus ATCC 6538 และ S.aureus KCTC 1916 โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้ง (MIC) ของน้ำมันระเหยง่าย เท่ากับ 162.5  และ 175 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดเมทานอลมีค่า MIC ต่อเชื้อทั้งสองเท่ากับ 175 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ น้ำมันระเหยง่ายยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ได้ 6 ชนิด คือ Escherichia coli O157:H7ATCC 43888, Pseudomonas aeruginosa KCTC 2004, Salmonella typhimurium KCTC 2515, E. coli ATCC 8739, Enterobacter aerogenes KCTC 2190, Salmonella enteritidis KCYC 12021 โดยมีค่า MIC เท่ากับ 450, 12.5, 225, 462.5,12.5 และ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ สารสกัดเมทานอล ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ 2 ชนิด คือ S. aureus KCTC 1916 และ B. subtills ATCC 6633 โดยมีค่า MIC เท่ากับ  175 และ 87.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ สารสกัดเมทานอลยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้สูงสุด 1ชนิด คือ E. coli  O157:H7ATCC 43888 โดยมีค่า MIC เท่ากับ  450 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (Paul, et al., 2011) 

         ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา

         การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราของน้ำมันระเหยง่ายของเทียนเยาวพาณีที่ได้จากการกลั่นด้วยน้ำ ต่อเชื้อ Candida albicans ในผู้ป่วย HIV ที่มีการติดเชื้อราในช่องปาก (oropharyngeal candidiasis) ทดสอบความไวของเชื้อต่อสารสกัดด้วยวิธี disk diffusion method การวัดค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ (MFC) ผลการทดสอบด้วยวิธี disk diffusion method พบว่า 67% ของเชื้อ Candida albicans มีความไวต่อสารสกัด, 9% มีความไวโดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ให้ และ 24% ดื้อต่อยาต้านเชื้อรา fluconazole การทดสอบด้วยวิธี micro dilution method พบว่า 68% ของเชื้อ Candida albicans มีความไวต่อสารสกัด, 5% มีความไวโดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ให้ และ 27% ดื้อต่อยาต้านเชื้อรา fluconazole (Sharifzadeh, et al., 2015) 

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล
    
การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 10,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

          

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. Paul S, Dubey RC, Maheswari DK, Kang SC. Trachyspermum ammi (L.) fruit essential oil influencing on membrane permeability and surface characteristics in inhibiting food-borne pathogens. Food Control. 2011;22:725-731.

3. Sharifzadeh A, Khosravi AR, Shokri H, Sharafi G. Antifungal effect of Trachyspermum ammi against susceptible and fluconazole-resistant strains of Candida albicans. Journal of Medical Mycology. 2015;25:143-150.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting