พิกุล

ชื่อเครื่องยา

พิกุล

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ดอก

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

พิกุล

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

กุน แก้ว ซางดง พิกุลเขา พิกุลเถื่อน พิกุลป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์

Mimusops elengi L.

ชื่อพ้อง

Imbricaria perroudii Montrouz., Kaukenia elengi (L.) Kuntze, K. javensis (Burck) Kuntze, K. timorensis (Burck) Kuntze, Magnolia xerophila P.Parm., Manilkara parvifolia (R.Br.) Dubard, Mimusops javensis Burck, M. latericia Elmer, M. lucida Poir., M. parvifolia R.Br., M. timorensis

ชื่อวงศ์

Sapotaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ดอก มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล 8 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ กลีบดอกมี 24 แฉก เรียง 2 ชั้น ชั้นนอก ปลายชี้ออกในระดับเดียวกันเป็นรูปดาว  ชั้นใน ปลายกลีบโค้งเข้าหากัน กลีบดอกมีสีขาวนวล เกสรเพศผู้สมบูรณ์มี 8 อัน  ดอกมีกลิ่นหอมเย็น  รสฝาด หอมสุขุม

 

เครื่องยา (ดอก)พิกุล

 

เครื่องยา (ดอก)พิกุล

 

เครื่องยา (ดอก)พิกุล

 

เครื่องยา วงกลีบดอกพิกุล

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 7.0% w/w  ปริมาณสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ไม่น้อยกว่า 27% w/w  ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่น้อยกว่า 17% w/w  ปริมาณสารสกัดด้วยอีเทอร์ ไม่น้อยกว่า 0.5% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ดอกแห้ง ใช้เข้ายาหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ ยานัตถุ์ ยาแก้ไข้ แก้ปวดหัว แก้เจ็บคอและแก้ร้อนใน แก้ไข้จับ แก้ไข้หมดสติ แก้ไข้เพ้อคลั่ง แก้อ่อนเพลีย แก้หอบ บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้ลม บำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต แก้ปวดตามร่างกาย แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดอกสด เข้ายาหอม ทำเครื่องสำอาง ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย
           ตำรายาไทยนำดอกพิกุลมาเข้าเครื่องยาไทยใน “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง) “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (มีดอกจำปาและดอกกระดังงาเพิ่มเข้ามา) และ “พิกัดเกสรทั้งเก้า”  (มีดอกลำดวน และดอกลำเจียกเพิ่มเข้ามา) มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย บำรุงครรภ์
           ตำรายาแผนโบราณของไทย: ดอกพิกุล จัดอยู่ใน “พิกัดจตุทิพยคันธา”คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมดังยาทิพย์ 4 อย่าง มีดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ เหง้าขิงแครง สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้เสมหะ แก้ลมปั่นป่วน แก้พรรดึก
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ดอกพิกุล ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) มีส่วนประกอบของดอกพิกุล อยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ปรากฏรวม 2 ตำรับ คือ”ยาหอมเทพจิตร” มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) และตำรับยาแก้ไข้ปรากฎการใช้ดอกพิกุลร่วมกับสมุนไพรอื่นๆใน “ตำรับยาเขียวหอม”  สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันหอมระเหย : ประกอบด้วย 2-phenylethanol 37.80% , methyl benzoate 13.40% , p-methyl-anisole 9.94% , 2-phenylethyl acetate 7.16% , (E)- cinnamyl alcohol 13.72% , 3-hydroxy-4-phenyl-2-butanone 4.74%

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
     
     ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

     การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดดอกพิกุลด้วยตัวทำละลาย petroleum ether, chloroform, ethyl acetate และ methanol ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรีย 9 ชนิด คือ ชนิด Gram-positive bacteria ได้แก่ Bacillus cereus (MTCC-1305), Staphylococcus aureus (MTCC-96) และ Enterobacter faecalis (MTCC-5112) ชนิด Gram-negative bacteria ได้แก่ Salmonella paratyphi (MTCC-735), Escherichia coli (MTCC-729), Klebsiella pneumoniae (MTCC-109), Pseudomonas aeruginosa (MTCC-647), Proteus vulgaris (MTCC-426) และ Serratia marcescens (MTCC-86) ทดสอบด้วยวิธี agar well diffusion ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด methanol ในขนาด 500 μg/well  ออกฤทธิ์สูงสุดต่อเชื้อทุกชนิด โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งต่อเชื้อ 9 ชนิด เท่ากับ 28, 30, 30, 26, 26, 25, 30, 28 และ 25 มิลลิเมตร ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Gentamicin ในขนาด 10 μg/well มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งเชื้อต่อเชื้อ 9 ชนิด เท่ากับ 32, 28, 32, 30, 36, 32, 24, 30 และ 32 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Reddy, et al., 2013)
   
  
การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 3,650 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

         

เอกสารอ้างอิง

       Reddy LJ, Jose B. Evaluation of antibacterial activity of Mimusops elengi L. flowers and Trichosanthes cucumerina L. fruits from south india. Int J Pharm Sci. 2013;5(3):362-364.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : www.phargarden.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  www.thaiherbarium.com

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting